ขอต้อนรับสู่ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ ชมรมเพาะพันธุ์กล้ายางคุณภาพ ตอนนี้ยาง TP48 พันธุ์มาเลย์ พร้อมออกสู่เกษตรกรแล้ว สายพันธุ์อื่น ๆ ปรับราคาใหม่ ในราคาเกษตรกร และตอนนี้ทางชมรมต้องการตัวแทนตัวหน่ายกล้ายาง สนใจรายละเอียด กรุณาติดต่อโดยตรง

ยางพา (รา) รวย

ยางพา (รา) รวย 
           
           บางครั้งสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปแล้ว อย่างชาวสวนยางคงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า วันดีคืนดีราคายาง (ยางแผ่นดิบชั้น 3) จะพุ่งขึ้นทะลุกว่า 140 บาท/กิโลกรัม ต่างกับในอดีตที่ราคายางตกต่ำมาก

            ผ่านมาไม่นานสถานการณ์ราคายางก็กลายเป็นหนังคนละเรื่องกับเมื่อหลายสิบปีก่อน จากที่เคยเป็นสินค้าเกษตร ส่งออกที่ราคาติดลบ ก็สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับ ชาวสวนยาง ในส่วนของภาครัฐก็หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นมีการประกาศยุทธศาสตร์พัฒนายางพาราปี 2552-2556 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาพืชเศรษฐกิจชนิดนี้อย่างเป็นระบบและครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูป             ที่เคยเป็นตัวประกอบ วันนี้ยางพาราเลยกลายเป็นตัวเด่น ถูกกล่าวขานถึงทั้งในแวดวงธุรกิจ การเมือง แม้กระทั่งในวงสนทนาของชาวบ้าน มีข่าวคราวทางสื่อให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน ในฐานะพืชเศรษฐกิจดาวรุ่ง

            สิบปีมานี้พื้นที่ปลูกยางเติบโตแบบก้าวกระโดด จากภาคใต้ขยายไปอีสาน เหนือ และภาคกลาง  ข้อมูลสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า เดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ 18.89 ล้านไร่ ใน 64 จังหวัด เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีพื้นที่ปลูก 14.35 ล้านไร่ ในจำนวนนี้อยู่ในภาคใต้ 11.33 ล้านไร่ ภาคตะวันออกและภาคกลาง 2.10 ล้านไร่ ภาคอีสาน 2.85 ล้านไร่ และ ภาคเหนือ 6.00 แสนไร่

            ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.94 ล้านตัน ในปี 2548 เป็น 3.16 ล้านตัน ในปี 2552 ไม่รวมพื้นที่เป้าหมายที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 ที่เพิ่งจะเปิดตัวเมืองวันที่ 14 มกราคมที่านมา โดยจะดำเนินการเฉพาะในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ยกเว้นภาคใต้

            ส่วนปริมาณการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 3.34 แสนตันในปี 2548 เป็น 3.99 แสนตัน ในปี 2552 ในส่วนของการ ส่งออกช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ส่งออกได้มูลค่ารวม 3,020,593.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2552
            อัพเดตราคายางพาราล่าสุดยังอยู่ในช่วงขาขึ้น วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ราคาซื้อขายยางแผ่นดิบชั้น 3 ตลาดกลางสงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรี ธรรมราช พุ่งสูงถึง 152.31 บาท/กิโลกรัม
            ถือเป็นการพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่พระรัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี หรือคอซิมบี้ ณ ระนอง อดีตเจ้าเมืองตรัง นำเมล็ดพันธุ์ยางจากรัฐเปรัก ประเทศมลายู หรือมาเลเซียในปัจจุบันเข้ามาปลูกใน อ.กันตัง จ.ตรัง เป็น ครั้งแรก ครั้งนั้นชาวบ้านเรียกขานกันภายใต้ชื่อ "ต้นยางเทศา"
            จากนั้นมีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้ราษฎรปลูกยางทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2442 หรือเมื่อ 112 ปีก่อน แล้วขยายไปภาคตะวันออกโดยเริ่มที่ จ.จันทบุรี (ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง)

            พร้อม ๆ กับข่าวดีก็มีข่าวร้ายปรากฏให้เห็นมากขึ้น ทั้งปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในภาคใต้และภาคเหนือของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งนายทุน นักธุรกิจ นักการเมือง ข่าวคราวเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการส่งเสริมการปลูกยางพาราที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งน่าหวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม การฉกฉวยโอกาสหลอกลวงชาวบ้านที่กำลังสร้างฝันเป็นเศรษฐีสวนยางด้วยการโก่งราคากล้าพันธุ์ วัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ในการทำสวนยาง ฯลฯ

            โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่านั้นน่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกมาระบุว่า พื้นที่ป่าในภาคใตกำลังถูกผู้มีอิทธิพลส่งแรงงานต่างด้าว "โรฮิงญา" เข้าไปแผ้วถางและปลูกยางในเวลากลางคืนโดย เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน หากราคายางพุ่งสูงขนาดนี้อีกไม่เกิน 10 ปี ป่าภาคใต้จะกลายเป็นสวนยางทั้งหมด

            เลยหวนนึกถึงยุคที่กุ้งกุลาดำกำลังบูมสุด ๆ เมื่อกว่าสิบปีก่อน ครั้งนั้นมีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลนในภาคใต้และภาคตะวันออกกันอย่างไม่บันยะบันยัง และแม้เวลาจะผ่านมานับสิบปีจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถพลิกพื้นสภาพป่าชายเลน ให้ดีดั่งเดิมได้จึงค่อนข้างน่าห่วงว่าพื้นที่ป่า พื้นที่ต้นน้ำจะย่อยยับไม่แตกต่างไปจากป่าชายเลน หากเป็นอย่างนั้นก็ควรระวังไว้ด้วยว่า นอกจากยางพารา... จะพารวยแล้ว ก็อาจจะพาแล้ง พาล่ม มาให้ด้วย


อ้างอิงข้อมูลจาก  หนังสือพิมพ์ประชาชาติ (วันที่ 17 มกราคม 2554)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น