ขอต้อนรับสู่ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ ชมรมเพาะพันธุ์กล้ายางคุณภาพ ตอนนี้ยาง TP48 พันธุ์มาเลย์ พร้อมออกสู่เกษตรกรแล้ว สายพันธุ์อื่น ๆ ปรับราคาใหม่ ในราคาเกษตรกร และตอนนี้ทางชมรมต้องการตัวแทนตัวหน่ายกล้ายาง สนใจรายละเอียด กรุณาติดต่อโดยตรง

การผลิตและการใช้ยางของจีน

(เป็นข้อมูลเก่า แต่ยังคงน่าอ่าน)

การผลิตและการใช้ยางของจีน

ผู้เขียนและคณะได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานด้านยางพาราที่มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่าววันที่ 30 สิงหาคม 2548 ถึง 3 กันยายน 2548 เป็นเวลา 5 วัน เพื่อศึกษาศักยภาพการผลิตยาง แนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกยาง และการใช้ยางของจีน เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิต การตลาดและความต้องการใช้ยางในอนาคต รวมทั้งการขยายพื้นที่ปลูกยางของจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำเข้ายางที่สำคัญของประเทศไทย ได้เห็นสภาพการปลูกยางของจีนในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางมากเป็นอันดับสองของประเทศ
ในปี 2547 ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการผลิต การตลาดยางและอุตสาหกรรมยางของจีนระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2547 ถึง วันที่ 7 มีนาคม 2547 เป็นเวลา 8 วัน ที่กรุงปักกิ่ง เมืองเซียงไฮ้และเมื่อ Dangzhou มณฑลไฮนาน ซึ่งเป็นมณฑลที่มีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดของจีน ตามโครงการศึกษาศักยภาพการผลิตและการส่งออกยาง และอุตสาหกรรมต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผลจากการศึกษาดูงานด้านยางพาราทั้งสองครั้ง ทำให้ผู้เขียนได้ทราบสถานการณ์การผลิต อุตสาหกรรมยางและความต้องการใช้ยางของจีนและเห็นปัญหาและความแตกต่างของการปลูกยางของจีนที่มณฑลไฮนานและมณฑลยูนนาน ที่ได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดที่ได้จากการศึกษาดูงานมาเล่าสู่กันฟัง



การผลิตและการใช้ยางของจีน

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับ 5 ของโลกในปี 2547 มีพื้นที่ปลูกยาง 660,000 เฮกตาร์ ผลิตยางได้ประมาณ 600,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย ทั้งประเทศเป็น 1,400 ตันต่อเฮกตาร์ หรือประมาณ 220 กิโลกรัมต่อไร่ พื้นที่ปลูกยางส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นสวนยางของรัฐ พื้นที่ปลูกยางของจีนมีอยู่ใน 5 มณฑลคือ มณฑลไฺฮนาน มณฑลยูนนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี และมณฑลฟูเจี้ยน
จีนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก ร้อยละ 9-9.5 จึงมีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริหารของบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตยางของยูนนาน กล่าวว่าในปี 2547 ปริมาณการใช้ยางของจีนเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านตันในปี 2545 เป็น 1.8 ล้านตัน ในปี 2547 ต้องนำเข้ายางประมาณ 1.2 ล้านตัน โดยร้อยละ 80 เป็นการนำเข้ายางจากไทย ในขณะที่จีนมีปริมาณการผลิตยางของประเทศ
ประมาณ 600,000 ตัน อุตสาหกรรมยางยานพาหนะของจีนเป็นภาคที่ใช้ยางธรรมชาติมากที่สุดถึงร้อยละ 55 ของปริมาณยางธรรมชาติที่ใช้ในประเทศทั้งหมด มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่ ในจีนกว่า 20 บริษัท มีทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติ บริษัทของจีนและการร่วมลงทุนของบริษัทยางรถยนต์ต่างชาติกับบริษัทยางของจีน อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2545 ที่ผลิตรถยนต์ได้ 3.2 ล้านคัน เพิ่มเป็นประมาณ 5 ล้านคันค่อปี แต่คาดว่าในปัจจุบันที่ภาวะน้ำมันสูงขึ้นในอนาคตกำลังการผลิตรถยนต์จะลดลง เหลือ 1 ล้านคันต่อปี เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความต้องการใช้ยางของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนมีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จีนจะใช้ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์รวมทั้งสิ้น 7.3 ล้านตัน และการใช้ยางของจีนจะเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการใช้ยางทั้งหมดของโลก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวยต่อการปลูกยางของจีน ปัญหาจากลมไต้ฝุ่น อากาศหนาวเย็นและความแห้งแล้ง ทำให้จีนไม่สามารถขยายพื้่นที่ปลูกยางในประเทศได้ รัฐบาลจีนมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้านอีก 10,000 เฮกตาร์ หรือ 625,000 ไร่ ในประเทศลาว ประเทศพม่า และประเทศกัมพูชา ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกยาง 100 เฮกตาร์ หรือ 625 ไร่ ทางตอนเหนือของลาว 3 จังหวัด สวนยางเปิดกรีดแล้ว 4 ปี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทอุตสหกรรมยางธรรมชาติของยูนนาน และบริษัทมีนโยบายลงทุน 10 ล้านหยวนหรือ 55 ล้านบาท เืพื่อพัฒนาโครงการผลิตยางในลาวในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
ในภาวะที่ราคายางสูงขึ้นเกษตรกรหันมาปลูกยางมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการโค่นต้นยางและปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนในช่วงที่ราคายางตกต่ำ อย่างไรก็ตามไฮนานยังมีพื้นที่ที่จะขยายการปลูกยางได้อีกประมาณ 300,000 ไร่ แต่เนื่องจากไฮนานอยุ่ในเขตที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกยาง ดังนั้นความสามารถในการเพิ่มผลผลิตคงเป็นไปได้ค่อนข้างจำกัด

การใช้ยางธรรมชาติของจีน

ราคายางธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2546 ทำให้อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ของจีนประสบปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ในปี 2546 การส่งออกยางรถยนต์ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2545 และขณะเดียวกันปริมาณยางรถยนต์ในสต็อคมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากปัญหาราคายางธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก ทำให้จีนกำลังพัฒนาการผลิตยางสังเคราะห์ในประเทศและมีแนวโน้มจะใช้ยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น เพื่อลดการนำเข้ายางธรรมชาติ นอกจากนี้กลุ่มผู้นำเข้ายางธรรมชาติของจีน ยังประสบปัญหาการเก็บอัตราภาษีนำเข้ายางธรรมชาติของรัฐบาลจีนร้อยละ 20 ทำให้กลุ่มผู้นำเข้ายางไม่อาจสู้ราคายางในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นมาก แหล่งข่าวเมื่อ เดือนสิงหาคม 2548 เจ้าหน้าที่สมาคมอุตสาหกรรมยางจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลกลาง ลดอัตราการนำเข้ายางพาราจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามผู้นำเข้าบางรายได้หันไปเลือกซื้อยางพาราผสม ซึ่งเป็นการผสมระหว่างยางธรรมชาติกับยางสังเคราะห์ 5% เนื่องจากรัฐบาลของจีนเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้ายางพาราผสมเพียงร้อยละ 5 ลดลงจากร้อยละ 8 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 ตามข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน


การผลิตยางของจีน

จีนมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 4 ล้านไร่ ผลิตยางได้ประมาณ 600,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 220 กิโลกรัมต่อไร่ พื้่นที่ประมาณร้อยละ 65 เป็นสวนยางของรัฐ ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าสวนยางของเกษตรกร พื้นที่ปลูกยางส่วนใหญ่อยู่ใน 2 มณฑล คือ ไฮนาน และยูนนาน แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ปลูกยางในประเทศ รัฐบาลจึงได้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า และกัมพูชา จีนประสบความสำเร็จในการปลูกยางในเขตละติืจูด 18-25 องศาเหนือ โดยค้นคว้าวิัจัยในการเพิ่มผลผลิตยางในประเทศ เช่น การปรับปรุงพันธุ์ เพื่อทนอากาศหนาวเย็น และให้ผลผลิตสูง การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น เทคนิคการกรีดยาง โดยเปลี่ยนจากการกรีดวันเว้นวัน วันเว้นสองวัน เป็นกรีด วันเว้นสามวัน ร่วมกับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง และอุปกรณ์กันน้ำฝนจะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น และสามารถลดจำนวนแรงงานกรีดยางได้ร้อยละ 50 ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มรายได้และประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากว่า 10 ปี และการวิจัยการใช้ปุ๋ย การวินิจฉัยธาตุอาหารพืช การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ปฏิบัติในสวนยางของรัฐ และการใชสาร rare earth ใส่ให้ต้นยาง สามารถเพิ่มผลผลิตยางมากกว่าร้อยละ 2-15

สรุป
        1. ความต้องการใช้ยางของจีนคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต แต่อาจะไม่ขยายตัวในลักษณะก้าวกระโดดเหมือนในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากราคายางธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางของจีนจะหันไปใช้ยางสังเคราะห์เพื่อทดแทนยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นผลดีต่อราคายางธรรมชาติต่อไป เพราะความต้องการใช้ยางธรรมชาติจากจีนยังคงมีต่อเนื่อง เพื่อทดแทนยางสังเคราะห์
ที่มีราคาแพง จากปัญหาราคายางธรรมชาติในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ ทำให้กลุ่มผู้ซื้อยางธรรมชาติของจีนกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลจีนลดอัตราภาษีนำเขาจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 และผู้นำเข้าบางรายได้หันไปซื้อยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ 5% แทนการซื้อวัตถุดิบยางธรรมชาติอย่างเดียว เนื่องจากเสียอัตราภาษีน้ำเข้าเพียงร้อยละ 5
    
         2. ศักยภาพการผลิตยางธรรมชาติของจีนมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสภาพพื้นที่ และสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกยาง จีนจึงยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้ายางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม จีนได้ขยายพื้นที่ปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่บางส่วนให้ผลผลิตแล้ว ในอนาคตจีนอาจนำเข้ายางธรรมชาติลดลง และหากราคายางธรรมชาติยังสูงมากรัฐบาลมีนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าและพัฒนาอุตสาหกรรมยางสังเคราะห์ในประเทศ เพื่อทดแทนยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จีนเป็นผู้ใช้ยางธรรมชาติมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน ก็อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กสิกร