ขอต้อนรับสู่ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ ชมรมเพาะพันธุ์กล้ายางคุณภาพ ตอนนี้ยาง TP48 พันธุ์มาเลย์ พร้อมออกสู่เกษตรกรแล้ว สายพันธุ์อื่น ๆ ปรับราคาใหม่ ในราคาเกษตรกร และตอนนี้ทางชมรมต้องการตัวแทนตัวหน่ายกล้ายาง สนใจรายละเอียด กรุณาติดต่อโดยตรง

หลักเบื้องต้นในการทำยางแผ่นดิบคุณภาพดี

หลักเบื้องต้นในการทำยางแผ่นดิบคุณภาพดี

น้ำยางพารา"ทำการเติมน้ำสะอาดลงในน้ำยางสดที่กรองแล้ว 1 เท่าตัว คนให้เข้ากัน ในกรณีที่เป็นน้ำยางจากต้นยางที่เพิ่งเปิดกรีดปีแรก ๆ ก็ควรผสมน้ำให้น้อยลง เป็นน้ำยาง 3 ส่วน น้ำ 2 ส่วน จากนั้นตวงส่วนผสมของน้ำยางและน้ำนี้ใส่ตะกง ๆ ละ 5 ลิตร แล้วผสมน้ำกรดฟอร์มิคในอัตราน้ำกรด 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 3 กระป๋องนม กวนน้ำยางด้วยที่กวน 1-2 เที่ยว แล้วค่อย ๆ เทส่วนผสมของน้ำกรดฟอร์มิค 1 กระป๋องนมต่อน้ำยาง 1 ตะกง"
ข้อความข้างต้น เป็นคำแนะนำที่เรามักพบเห็นจนชินตา ซึ่งก็เป็นคำแนะนำที่ง่ายและเข้ากับเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างดี แต่ถ้าหากว่า เป็นเจ้าของสวนยางพาราที่มีสวนยางมากขึ้นต้องการทำยางแผ่นดิบด้วยตะกงตับ หรือเป็นผู้ที่คิดจะทำธุรกิจรับซื้อน้ำยางสดมาทำเป็นยางแผ่นดิบเพื่อขาย จำเป็นต้องใช้ตะกงตับ อัตราส่วนน้ำ,น้ำยาง,น้ำกรดฟอร์มิก ที่แนะนำ ก็คงจะใช้ไม่ได้ เราลองมาวิเคราะห์คำแนะนำข้างต้นเพื่อสร้างเป็นหลักการที่ดูเป็นวิชาการและสามารถนำไปใช้ได้ทั่วไป
  1. "ทำการเติมน้ำสะอาดลงในน้ำยางสดที่กรองแล้ว 1 เท่าตัว" เรื่องความเข้มข้นของน้ำยางสดโดยทั่วไปจะคิดว่าน้ำยางสดมีความเข้มข้นประมาณ 30 % ถ้าเติมน้ำลงไป 1 เท่าตัว ก็จะทำให้น้ำยางมีความเข้มข้นลดลงเหลือ 15 % นั่นก็คือว่า ในการทำยางแผ่นดิบคุณภาพดี ควรผสมน้ำสะอาดลงไปให้น้ำยางเหลือความเข้มข้น 15 % หรือ 12.5 % ก็ได้(ยิ่งน้ำมากแผ่นยางยิ่งมีสีเหลืองสวยและคุณภาพยางก็ดีด้วย)
  2. น้ำกรดฟอร์มิค"ผสมน้ำกรดฟอร์มิคในอัตราน้ำกรด 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 3 กระป๋องนม" เรื่องความเข้มข้นของน้ำกรดฟอร์มิก โดยทั่วไปจะมีความเข้มข้น 90 % (มีตั้งแต่ 85-94 %) กรดฟอร์มิก 2 ช้อนแกง เท่ากับ 24 ซีซี น้ำ 3 กระป๋องนม เท่ากับ 900 ซีซี นั่นก็คือว่า
    น้ำ 900 ซีซี มีจำนวนกรดฟอร์มิกอยู่ 24 ซีซี
    ถ้าน้ำ 100 ซีซี จะมีจำนวนกรดฟอร์มิกอยู่ 24/900x100 ซีซี
    นั่นคือ ในน้ำ 100 ซีซี จะมีจำนวนกรดฟอร์มิกอยู่ เท่ากับ 2.66 ซีซี หรือมีเนื้อกรดจริงเพียง 2.4 กรัม-เนื่องจากเป็นกรด 90%
    หรือสรุปง่าย ๆ ว่า ต้องทำสารละลายกรดฟอร์มิกให้มีความเข้มข้น 2.0-2.5 % ก่อนนำไปใช้ (การที่ทำให้กรดเจือจางมากขึ้นก็จะส่งผลให้น้ำกรดผสมกับน้ำยางได้ดีอย่างทั่วถึงและรวดเร็วขึ้น)
  3. "ค่อย ๆ เทส่วนผสมของน้ำกรดฟอร์มิค 1 กระป๋องนมต่อน้ำยาง 1 ตะกง(5 ลิตร)" จากข้อ 1 น้ำยางความเข้มข้น 15 % ถ้า 1 ตะกงหรือ 5 ลิตร
    คำนวณเป็นเนื้อยางแห้งแล้วได้เท่ากับ 750 กรัม
    จากข้อ 2 กรดฟอร์มิกที่มีใน1 กระป๋องมีกรดอยู่ 8 ซีซี
    แต่กรดนี้เป็นกรด 90 % นั่นก็คือว่า
    กรดฟอร์มิค จำนวน 100 ซีซี มีเนื้อกรดอยู่จริง เท่ากับ 90 กรัม
    ถ้ากรดฟอร์มิค เพียง 8 ซีซี จะมีเนื้อกรดอยู่จริง เท่ากับ 90/100x8 กรัม
    เท่ากับ 7.2 กรัม
    แสดงว่า
    เนื้อยางแห้ง 750 กรัม ต้องใช้เนื้อกรดฟอร์มิค 7.2 กรัม
    ถ้าเนื้อยางแห้ง 100 กรัม ต้องใช้เนื้อกรดฟอร์มิค 7.2/750x100 กรัม
    เท่ากับ 0.96 กรัม นั่นคือ
    ต้องใช้เนื้อกรดจริง 0.4-0.9 % ของเนื้อยางแห้ง (การใช้เนื้อกรดจริงน้อย ระยะเวลาในการแข็งตัวก็จะนานขึ้น เช่น ถ้าใช้เนื้อกรดจริง 0.4 % ของเนื้อยางแห้ง ก็ทิ้งไว้รีดพรุ่งนี้ได้ แต่ถ้าใช้เนื้อกรดจริง 0.9 % ยางจะแข็งตัวพอดีภายใน 30-45 นาที)
สรุปทั้ง 3 ข้อ ก็คือ ในการทำยางแผ่นดิบคุณภาพดี นอกจากจะต้องรักษาความสะอาดในทุกขั้นตอนแล้ว ก็ควรผสมน้ำให้น้ำยางมีความเข้มข้น 12.5-15 % จากนั้นผสมสารละลายของน้ำกรดฟอร์มิคที่มีความเข้มข้น 2.0-2.5 % ในอัตรา 0.4-0.8 % ของเนื้อยางแห้ง
เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ คนที่เคยเรียนวิชาเคมีมาบ้างก็คงจะนึกถึง
M1V1 = M2V2 equation.
โดย M =ความเข้มข้น  และ V=ปริมาตร

สูตรนี้มีประโยชน์ในการใช้เตรียมสารละลายต่าง ๆ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของสาร หรือปริมาตรของสารที่จะใช้
ตัวอย่างที่ 1: มีกรดฟอร์มิกชนิด 90% อยู่แล้ว 1 ถัง อยากทราบว่าต้องแบ่งกรดฟอร์มิกมากี่ลิตร เพื่อใช้ทำสารละลายกรดฟอร์มิกความเข้มข้น 2.5 % จำนวน 12 ลิตร
วิธีทำ     จากสูตร M1V1 = M2V2 
 แทนค่า                 90V1 = 2.5x 12                        
                              90V1 = 30                            
                                  V1 = 30/90                             
                                  V1 = 30/90                            
                                  V1 = 0.333
หรือ
ต้องแบ่งกรดฟอร์มิกมา = 0.333 ลิตร หรือ 333 ซีซี แล้วผสมน้ำ 12 ลิตร นั่นเอง

ตัวอย่างที่ 2: เก็บน้ำยางสดจากสวนยางมาได้ 40 ลิตร มีความเข้มข้น 34% ต้องการผสมน้ำให้น้ำยางมีความเข้มข้นลดลงเหลือ 15% จะได้น้ำยางกี่ลิตร
(และต้องผสมน้ำกี่ลิตร)
วิธีทำ     จากสูตร M1V1 = M2V2 
  แทนค่า               34x40 = 15x V2                           
                               1360 = 15x V2                              
                                   V2 = 1360/15                              
                                   V2 = 90.6
หรือ
จะได้น้ำยางที่มีความเข้มข้น 15 % จำนวน 90.6 ลิตร หรือต้องผสมน้ำเพิ่มไปอีก  50.6 ลิตร นั่นเอง



อ้างอิงข้อมูลจาก  live-rubber






ยางพารา เตือนโรครากขาว

โรครากขาวในยางพารา

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.
จำนวน 8,590 ไร่ (ที่มา สกย.หนองบัวลำภู)  ขอให้ระวังโรครากขาว ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งที่เกิดจากเชื้อรา  เกิดขึ้นได้กับยางทั่วไปทั้งยางอ่อนและยางแก่ มีอาการจะสังเกตเห็นพุ่มใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้ม ใบร่วงหมดทั้งต้น ขอบใบม้วนเข้าด้านใน ถ้าตรวจดูที่รากจะเห็นเส้นใยของเชื้อราแตกสาขาเป็นร่างแหจับติดแน่น และแผ่คลุมผิวรากที่เป็นโรค ลักษณะของเส้นใยมีสีขาวปลายแบน เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะนูนกลม และกลายเป็นสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลซีด ในช่วงที่มีฝนตกดอกจะซ้อนกัน ผิวบนสีเหลืองแกมส้ม ขอบสีขาว ส่วนผิวล่างมีสีส้มแดงหรือน้ำตาล ถ้าตัดดอกเห็ดตามขวาง จะเห็นชั้นบนเป็นสีขาวและชั้นล่างเป็นสีน้ำตาลแดงชัดเจน

นายเสน่ห์  รัตนาภรณ์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวถึงการป้องกันกำจัดว่า

1. การเตรียมพื้นที่ปลูกยางพารา จะต้องทำการถอนรากและเผาทำลายตอไม้ ท่อนไม้หมด เพื่อทำลายเชื้อราอันอาจทำให้เกิดโรค

2. พื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพริก มะเขือเปราะ มันเทศ มันสำปะหลัง น้อยหน่า ลองกอง สะตอ จำปาดะ สะเดาเทียม และทุเรียน เพราะเป็นพืชอาศัยของโรค

3. ขุดคูล้อมรอบต้นยางที่เป็นโรค ไม่ให้รากยางที่เป็นโรคไปสัมผัสกับรากยางที่ไม่เป็นโรค

4. อาจป้องกันโดยใช้สารเคมี ไซไพรโคนาโซล หรือไตรดีมอร์ฟ 10-20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 2 ลิตรต่อต้น หรือโพรพิโคนาโซล 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 3 ลิตรต่อต้น เฟนฟิโคลนิล 10-15 กรัม ต่อน้ำ 3 ลิตรต่อต้น ราดในดินที่ขุดเป็นร่องกว้าง และลึก 10-15 ซม. รอบโคนยางทุก 6 เดือน

5. ถ้าพบโรครากขาวในต้นยางอายุน้อย ให้ทำการขุดทิ้งและขุดรากที่เป็นโรคขึ้นมาเผาทำลาย

หากมีข้อสงสัยหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มอารักษ์พืช โทร. 0-4231-3247 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ หรือศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลทุกตำบลที่ใกล้บ้าน.

การฟื้นฟูยางพาราหลังน้ำท่วม

ฟื้นฟูสวนยางหลังน้ำท่วม



          ภาวะน้ำท่วมที่เกษตรกรชาวสวนยางประสบอยู่เสมอ ได้แก่ภาวะน้ำท่วมแบบฉับพลันที่มีทั้งน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว และมีทั้งน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เหตุการณ์เหล่านี้ ข้อมูลจาก จดหมายข่าวผลิใบ ของกรมวิชาการเกษตร ที่มี คุณพรรณนีย์ วิชชาชู หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรมฯเป็นบรรณาธิการ ได้กล่าวถึง ภาวะน้ำท่วมที่เกษตรกรชาวสวนยางประสบอยู่เสมอ ได้แก่ภาวะน้ำท่วมแบบฉับพลันที่มีทั้งน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว และมีทั้งน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เหตุการณ์เหล่านี้ ก่อให้เกิดความเสียหายกับต้นยาง ความเสียหายดังกล่าวบางกรณีสามารถแก้ไขเพื่อให้ลดความเสียหายลงได้บ้าง ในบางกรณีเกิดความเสียหายระดับรุนแรงจนต้องโค่นต้นยางเพื่อปลูกใหม่ ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกษตรกรได้รับความสูญเสียทั้งสิ้น หากพูดถึงระดับความเสียหายรุนแรงของน้ำท่วม จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้

          อายุยางและความยาวนานของน้ำที่ท่วม โดยธรรมชาติของยางพาราเป็นพืชที่ทนต่อภาวะน้ำท่วมขังได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุยาง ระดับน้ำและความยาวนานของน้ำท่วม โดยทั่วไปพบว่าในสภาพน้ำท่วมขังทำให้ความเข้มข้นของแก๊สออกซิเจนในดินต่ำ ซึ่งมีผลต่อรากยางและจุลินทรีย์ในดินขาดก๊าชออกซิเจนที่จะถูกนำไปใช้ในการหายใจ และสมดุลของสารบางชนิดเปลี่ยนไป เช่น ธาตุเหล็ก อะลูมินัม เป็นต้น มีปริมาณมากขึ้นจนเป็นพิษต่อยางและบางครั้งสูญเสียธาตุอาหารพืชจากดิน ทำให้มีผลกระทบกับต้นยางโดยตรง ทำให้ลำต้นแคระแกร็น โคนต้นโต แตกพุ่มเตี้ยและมีใบเหลืองซีดคล้ายขาดธาตุไนโตรเจน บางครั้งพบปลายยอดแห้งตาย บางพื้นที่ยางอายุ 10 ปี ยังไม่สามารถเปิดกรีดได้เพราะต้นมีขนาดเล็กมาก ยางอ่อนอายุน้อยกว่า 4 ปี ทนภาวะน้ำท่วมขังได้ไม่เกิน 5–10 วัน ส่วนยางอายุมากกว่า 5 ปี จะทนภาวะน้ำท่วมขังได้นานกว่า

        นอกจากนั้น ยังพบต้นยางแสดงอาการใบเหลืองและรากเน่า โดยเฉพาะในส่วนของรากฝอยที่ทำหน้าที่ดูดน้ำและธาตุอาหารในดิน เชื้อราอาจเข้าทำลายส่วนของราก และโคนต้นหรือส่วนที่เป็นแผล ทำให้กระทบการเจริญเติบโตของต้นยาง หากอาการรุนแรงอาจทำให้ต้นยางตายได้

          ระดับน้ำท่วมขังมีความสำคัญเช่นกันหากระดับน้ำสูง 0.5–1.0 เมตร ถึงแม้ว่าจะมีน้ำท่วมเพียงระยะเวลาสั้นแค่วันเดียวก็ตาม อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับต้นยางได้ และหากน้ำท่วมถึงบริเวณรอยกรีดยางจะทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เพราะการกรีดยางเป็นการทำให้ต้นยางเกิดแผลทางหนึ่ง เชื้อราที่เข้าทำลายบริเวณหน้ากรีดยางทำให้เกิดโรคเส้นดำหรือหน้ากรีดยางเน่า ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวเกษตรกรควรหยุดกรีดยางและทาสารเคมีเมทาแลกซิลทุกสัปดาห์ติดต่อกันจนกว่าจะหาย ในภาวะที่ฝนตกติดต่อกันหลายวันหรือน้ำท่วมขัง ทำให้ดินอ่อนตัวลงโดยเฉพาะรอบ ๆ บริเวณโคนต้นทำให้ต้นยางโค่นล้มได้ หรือในกรณีที่สวนยางโดนลมรวมทั้งพายุฝนทำให้ส่วนของกิ่งก้านยางฉีกขาดจนต้นล้ม ซึ่งมีทั้งล้มเป็นบางต้นและล้มเป็นแถบเหมือนโดมิโน หากสวนยางของเกษตรกรอยู่ตรงบริเวณช่องลมพัดผ่านเข้าเป็นประจำทุก 5–10 ปี ควรหลีกเลี่ยงการปลูกยางและเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น พืชไร่ที่อายุสั้น หรือพืชที่ทนต่อลม แต่ถ้ายางล้มเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ให้ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

          แนวทางแก้ไขต้นยางที่ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม เกษตรกรต้องเร่งสำรวจสภาพทั่วไปของสวนยาง หากต้นยางได้รับความเสียหายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของสวน เช่น ปลูกต้นยางไร่ละ 76 ต้น หากเสียหาย 50 เปอร์เซ็นต์ จะมีต้นยางคงเหลืออยู่ 38 ต้นต่อไร่ หรือกรณีที่มีสวนยาง 10 ไร่ มีต้นยางคงเหลือเพียง 380 ต้น เกษตรกรต้องพิจารณาว่าต้นยางที่เหลือรอดอยู่นั้น อยู่ติดกันหรือกระจายตัวไปทั้งแปลงยาง ที่ต้องพิจารณาเช่นนี้ เนื่องจากมีผลต่อการปฏิบัติดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดวัชพืช หรือการกรีดยางในอนาคต เพราะคนกรีดต้องเดินไกลกว่าจะได้กรีดยางต้นหนึ่ง นอกจากนั้น ต้นยางที่อยู่ระหว่างต้นที่ว่างอยู่มีโอกาสล้มได้ง่าย เพราะต้นยางที่ติดกับหลุมว่างจะมีทรงพุ่มขนาดใหญ่ หนา และหนักทำให้โค่นล้มได้ง่ายเพียงแต่ดินอ่อนตัวเนื่องจากฝนตกติดต่อกันหรือมีพายุเพียงเบา ๆ เพราะโดยทั่วไปแล้วต้นยางบริเวณใกล้เคียงจะช่วยเป็นแนวบังลมให้กันและกัน


อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ยางพาราไทย ยังไม่ถึงทางตัน

ยางไทยวันนี้...ไม่ถึงทางตันความต้องการตลาดโลกยังสูง   [วันที่ 28 พ.ย. 2554 ]


         “ราคายาง ณ ปัจจุบัน ( 24 พ.ย. 2554 ) อยู่ที่ ประมาณ 90 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำ เกษตรกรยังอยู่ได้ โดยราคายางขึ้นลงตามราคาน้ำมัน และตลาดหุ้น ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคกลาง ที่ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมยานยนต์ชะงักไป จึงส่งผลกระทบต่อตลาดยางพาราไปด้วยซึ่งก่อนหน้านี้ มีผลผลิตยางออกสู่ตลาดจำนวนมาก แต่มีการนำไปใช้น้อย จึงทำให้ราคาตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งที่มีทุน มักจะเก็บยางไว้ ไม่นำออกมาขาย ในช่วงที่ราคาลดลง จึงยังมียางอยู่ในมือเกษตรกรเป็นจำนวนมาก “ นี่เป็นคำยืนยันจาก นายพนัส แพชนะ ผู้อำนวยการตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี

          ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคกลางส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมหลายหลากชนิดที่ส่วนใหญ่มีวัตถุดิบมาจากยาง ยิ่งไปกว่านั้นทำราคายางพาราลดฮวบลงไปด้วยนั้น เนื่องจากยางในสต็อกมีมาก แต่ไม่มีโรงงานผลิต จึงฉุดราคายางแผ่นดิบต่ำไปด้วยนั้น ทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่มีลมมรสุมทำให้มีฝนตกในภาคใต้ กรีดยางไม่ได้มากนักราคาจะสูงทุกปีเว้นแต่ปีนี้ที่กลับกัน
          นายพนัส ให้ข้อมูลว่า ราคายางปรับลดไม่นาน แนวโน้มราคายางพารา จะทรงตัวในระดับ 80-90 บาทต่อกก. ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมีปัญหาในตอนนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา จะส่งผลกระทบต่อราคายางในทันที ประกอบกับในช่วงปลายเดือนธันวาคม-มกราคม จะเป็นช่วงที่ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีวันหยุดยาว ในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ทำให้ความต้องการใช้ยางของสองตลาดนี้ชะลอตัวลง 

         ขณะเดียวกัน ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในผลิตยางพารา เริ่มมีฝนตกหนัก ทำให้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดจำนวนน้อย เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ และผลผลิตจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงฤดูที่ยางพาราผลัดใบ 2 ปัจจัยนี้ จะทำให้ผลผลิตในตลาด และในมือเกษตรกรลดลง 

          สำหรับตลาดหลักในการส่งออกยางพารา ยังคงเป็นประเทศจีน ซึ่งมีความต้องการผลผลิตยางสูงกว่า ตลาดยุโรป และอเมริกา โดยไทยส่งออกยางไปจีน ปีละประมาณ 3-4 แสนตัน ประกอบกับระยะทางในการขนส่งไม่ไกล และมีระบบโลจิสติกส์ ที่ดีและสะดวก ทำให้ตลาดจีน เป็นตลาดที่ยังสดใส สำหรับยางพาราของไทย ส่วนตลาดญี่ปุ่น มีการส่งออกลดลง หลังจากเกิดเหตุสึนามิ 

          “วันนี้ผลผลิตยางพารา ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลก ดังนั้นในระยะ 10 ปี ข้างหน้า ผลผลิตยางพารา จะยังไม่เต็มตลาด เนื่องจาก พื้นที่ปลูกยาง มีจำกัด ไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกไปได้มากกว่านี้แล้ว ประกอบกับ ยางสังเคราะห์ ที่ได้จากปิโตรเคมี ลดลงตามปริมาณน้ำมันของโลกที่ลดลงต่อเนื่อง และจะหมดไปใน 40-50 ปีข้างหน้า จึงส่งผลให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติจะมีอย่างต่อเนื่อง "
          สำหรับประเทศคู่แข่งในการผลิตยางพาราของไทย คือ อินโดนีเซีย ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลก ใกล้เคียงกัน คือไทย มีส่วนแบ่งที่ 31 เปอร์เซ็นต์ อินโดนีเซีย 29 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกราว 30 ล้านไร่ และไทยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 17 ล้านไร่ ส่วนที่ทำให้ไทยยังเป็นผู้นำด้านการผลิตยาง คือเทคโนโลยีการผลิตที่สูงกว่า แม้แต่ในประเทศจีน ซึ่งมีพื้นที่มาก จนคนไทยวิตกว่ายางจากจีนจะตีตลาดโลก และทำให้ราคายางของไทยตกต่ำ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น 

          เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่จีน ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกยาง แต่พื้นที่ที่น่าสนใจ และยังขยายพื้นที่ปลูกได้ คือประเทศลาว และพม่า ซึ่งแม้จะมีการปลูกยางเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีขอจำกัดในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต 

          ณ วันนี้ ไทยเป็นหนึ่งของโลกในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตยางพารา แต่ในภาคอุตสาหกรรม ไทยยังเป็นรองประเทศมาเลเซีย ซึ่งในอนาคตไทยต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วนและต้องเป็น 1 ในโลกให้ได้ซึ่งทำได้ไม่ยาก หากมีการสนับสนุนที่จริงจัง

          ในส่วนของภาคเกษตรกร อย่าง นายสันติ ชูสุวรรณ เกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า ตอนนี้ราคายางพาราถือว่าวิกฤติอย่างมาก เพราะสินค้าทุกประเภทขึ้นราคา แต่รายได้ลดลง จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งหาวิธีการที่จะฉุดราคายางให้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าหลังน้ำลดโรงงานผลิตทุกแห่งต้องเร่งใช้วัตถุดิบในการผลิตรถยนต์ ได้แต่หวังว่าราคายางคงจะดีกว่านี้ โดยเฉพาะหากกิโลกรัมละ 95 -100 บาท

          " เกษตรกรน่าจะพออยู่ได้ แต่หากราคายางพาราลด ต้นทุนผลิตก็ต้องลดลงด้วย โดยเฉพาะราคาปุ๋ยต้องลดลงและราคาสินค้าต้องปรับให้เหมาะสม อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา หากเป็นไปในลักษณะนี้เกษตรกรก็พอใจแล้ว"

          ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลต้องการรักษาระดับราคาให้เกษตรกรขายยางแผ่นดิบชั้น 3 ในราคา ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 95 บาท เพื่อทำให้ราคายางส่งออก FOB ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่า 105 บาท หรือ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม เป็นแผนงานระยะสั้นช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายปีนี้และไตรมาสแรกปี 2555 ส่วนระยะยาวจะรักษาระดับราคายางไว้ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม หรือ 120 บาทโดยที่ผลการประชุมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดมาตรการ 9 ประการ 
          ประกอบด้วย 1)รัฐบาลไทยจะเชิญผู้แทน ITRC เพื่อพิจารณาปัญหาราคายาง เช่น การจำกัดโควตาการส่งออก 2)ให้รักษาระดับราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ไว้ที่ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 105 บาทต่อกก. 3)ขอให้ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อกับสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางและเก็บสต็อกไว้ 4) นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รมช.เกษตรฯ และผู้บริหารองค์การสวนยาง สกย. สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร และเอกชน จะไปเจรจาทำสัญญาซื้อขายยางกับจีนช่วงสัปดาห์หน้า 5) เสนอรัฐบาลจัดทำ Packing Credit กับเอกชนผู้ส่งออกยาง 6) ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวสวนยางลดหรือชะลอเวลาการกรีดยางจากกรีด 2 วันเว้น 1 วัน เป็นกรีดวันเว้นวัน เพื่อลดปริมาณในท้องตลาด ทำให้ราคาสูงขึ้น 7) ขอร้องให้เกษตรกรหยุดกรีดยางต้นเล็กที่ยังไม่ได้ขนาดกรีด 8) ปี 2555 เพิ่มเป้าหมายการโค่นยางเพื่อปลูกแทนจากปีละ 255,000 ไร่ เป็น 4 แสนไร่ 9) เสนอรัฐบาลทำโครงการ 8,000 ล้านบาท เพื่อให้เครดิตกับสถาบันเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา

          โดยที่มูลค่าการส่งออกยางไทยในปีนี้จากยางทุกรูปแบบทั้งน้ำยางข้น ยางคอมปาวด์ ยางเครพ, ยางแท่ง, ยางธรรมชาติอื่นๆ ยางบาลาตา ยางแผ่นผึ่งแห้ง และยางแผ่นรมควัน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม (ข้อมูลกรมศุลกากร) ประมาณ 1,650,207 ตัน มูลค่าประมาณ 226,640 ล้านบาท

          "ปีนี้หากมองถึงการปลูกยางใหม่ที่ต้องเน้นยางคุณภาพอาจจะต้อง ประสบกับภาวะต้นกล้ายางไม่เพียงพอ สาเหตุหนึ่งเป็นผลพวงมาจาก ช่วงที่ยางราคาสูง เกษตรกร ที่ผลิตต้นตายาง ได้โค่นต้นพันธุ์ทิ้ง แล้วปลูกยางพาราแทนที่ ทำให้ต้นกิ่งพันธุ์หายในจากระบบการผลิตจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นของกระทรวงเกษตร ฯทำให้ ใน 1-3 ปีข้างหน้า ต้นกล้ายางจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต่อไปอีก โดยการปลูกต้นพันธุ์ยาง เพื่อเอาตายาง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ส่วนราคาตายาง ในปัจจุบัน อยู่ที่ ตาละ 1 บาท หรือ ฟุตละ 6 บาท" 

          "วันนี้ผลผลิตยางพารายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกดังนั้น 10 ปีข้างหน้าผลผลิตยางพาราจะยังไม่เต็มตลาด"


          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, 28 พ.ย. 2554

ข้อคิดก่อนปลูกยางพารา

ข้อคิดก่อนปลูกยางพารา

ข้อควรพิจารณาในการตัดสินใจปลูกยางพารา

การขายยางที่ตลาดกลางยางพาราอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลาราคายางพารา(ยางแผ่นดิบ) เฉลี่ยรายปี ณ ตลาดกลางยางพาราอำเภอหาดใหญ่นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา   ได้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จาก กิโลกรัมละ 22.52 บาท จนถึง กิโลกรัมละ 82.13 บาท ในปี 2551 นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ที่มีอาชีพทำสวนยางพารา และที่เป็นข่าวครึกโครมก็คือราคายางพารา ณ วันที่ 12-13 มิถุนายน 49 ที่สูงถึงกิโลกรัมละ 100.99 บาท  และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ราคายางแผ่นดิบ คุณภาพ 3 พุ่งขึ้นสูงถึง กิโลกรัมละ 183.64  บาท ส่วนยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 กิโลกรัมละ 198.76  บาท  ปัจจุบัน (พ.ค. 54 ) ราคายางตกลงมาอยู่ที่ กิโลกรัมละประมาณ 150  บาท ขึ้นลงตามกลไกของตลาด สิ่งนี้ เป็นสาเหตุให้มีมือใหม่ในการปลูกสร้างสวนยางพาราเพิ่มมากขึ้น อย่างรวดเร็ว แต่นี่ก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่จะมีมือใหม่ในวงการนี้ มีหลายคนที่ไม่ได้ทำการเกษตรมาเลย แต่ต้องรับมรดกเป็นสวนยางพารา หรือข้าราชการหลายท่านที่มองหาสวนยางพาราไว้เป็นแหล่งรายได้และหลีกหนีความวุ่นวายจากสังคมเมืองในบั้นปลายของชีวิต, ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรภาคกลาง-อีสาน-เหนือ ที่อยากจะเปลี่ยนอาชีพมาทำสวนยางพารา เพื่อความหวังใหม่ที่น่าจะดีกว่าชีวิตเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นใคร หากท่านจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการลงทุนปลูกสร้างสวนยางพารา ข้อคิดที่ควรพิจารณา จึงน่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องยางพาราและปัญหาเรื่องยางพารา มากขึ้น
  1. ราคายางพาราขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ปัจจัยหลัก คือ เรืองของ อุปสงค์(demand-คือ ปริมาณความต้องการสินค้า) และอุปทาน (supply-ปริมาณเสนอขายสินค้า) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อินเดีย, มาเลเซีย, เกาหลีใต้ เป็นต้น หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีอัตราการขยายตัวของการใช้ยางมากที่สุดในปัจจุบันนี้ เป็นไปในทิศทางที่ดี การสั่งซื้อยางพาราจากไทย เพื่อนำเข้าประเทศเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ ก็จะเป็นการกระตุ้นราคายางพาราได้เป็นอย่าสวนยางพารา อายุประมาณ 5 ปีงดี (หลังจากที่จีนได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO เมื่อปี 2544 ทำให้การลงทุนของบริษัทผลิตรถยนต์ และยางรถยนต์ขนาดใหญ่จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจีนมาก และเนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ จึงทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว)
  2. แม้ว่าทางรัฐบาลจะมีมาตรการรองรับหรือมีมาตรการในการรักษาระดับราคายางพาราไม่ให้ตกต่ำ เช่น การร่วมมือของ 3 ประเทศยักใหญ่ในการผลิตยางพารา คือ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการก่อตั้งบริษัทการค้าร่วม ก็ตาม แต่คงไม่มีใครรับรองได้ 100 % ว่าพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราจะไม่พบกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย และไม่อาจควบคุมการผลิตที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติได้เช่นยางสังเคราะห์ ที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม
  3. การได้เข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองต่าง ๆ อาจส่งผลต่อราคายางพาราได้เช่นกัน แต่อยู่ในระดับหนึ่ง ปัจจัยที่มีผลมากจนทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปมาก ๆ คือเรือง อุปสงค์และอุปทาน และภาวะเศรษฐกิจโลก ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
  4. หากมีมาตรการควบคุมการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การผลิตมีความสมดุลย์กับปริมาณการใช้ ราคายางพาราก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น
  5. เกษตรกรควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับยางพารา ซึ่งหาชมได้จาก วีดีโอการปลูกสร้างสวนยางพารา พร้อมกับเนื้อหาข้อมูลที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งก็คือข้อมูลเกี่ยวกับตลาดยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ มีใน เว็บไซต์       
*****ข้อมูลจาก เคเอ็มรับเบอร์****





วิธีสังเกตความอุดมสมบูรณ์ของดิน



การสังเกต (General Observation) ขนาดความเจริญเติบโต ลักษณะอาการขาดธาตุอาหารของพืชที่แสดงให้เห็น แต่วิธีการนี้ค่อนข้างล่าช้า อาจไม่ทันการเมื่อขาดธาตุที่สำคัญ

การวิเคราะห์พืช (Plant Analysis) วัดจากธาตุอาหาร ที่สะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของพืชเช่น ใบแก่ ก้านใบ เป็นต้น ก็จะเป็นตัวบ่งบอกธาตุอาหารในดินไ้ด้

การวิเคราะห์ดิน (Soil Analysis) เก็บตัวอย่างดิน มาวิเคราะห์หาธาตุอาหารโดยตรง

การปลูกพืชทดสอบในเรือนกระจก หรือในไร่ (Greenhouse or Field Experiments) นำดินที่เคราะห์ใส่ในกระถางแล้วปลูกพืช หรือทำในไร่ที่จะหาความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยเปรียบเทียบกับตัวเปรียบเทียบที่ความคุมธาุตุอาหารได้ครบ
สิ่งที่เกษตรกรมักจะคำนึงถึงคือความอุดมสมบูรณ์ของดิน (soil Fertility) ในแง่ของปริมาณแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ ว่ามีมากน้อยหรือไม่เท่านั้น ความจริงแล้วคุณสมบัติของดินที่ดี จะต้องรวมถึงคุณสมบัติทางกายภาพของดินด้วย เช่น การระบายน้ำ การถ่ายเทอากาศในดิน ความร่วนซุย ความอุ้มน้ำ และความลึกของหน้าดิน หรือคุณสมบัติในการตรึงธาตุอาหารของดิน เป็นต้น
ดังนั้นแม้ว่าดิน จะมีความอุดมสมบูรณ์ในแง่แร่ธาตุอหารมากเพียงใดก็ตาม หากมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ไม่เหมาะสม พืชก็ไม่สามารถนำธาตุอาหารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้
ดินบางชนิดเมื่อได้รับการปรับปรุง และจัดการเพียงเล็กน้อย พืชก็สามารถนำแร่ธาตุในดินไปใช้ได้ ในทางตรงกันข้าม ดินบางชนิดจะต้องได้รับการปรับปรุง และจัดการเป็นอย่างมาก เช่น การใส่ปุ๋ยเพิ่ม การให้นำ้ชลประทาน การระบายน้ำ และการใส่ปูนขาวปรับปรุงความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสมเสียก่อน จึงจะนำแร่ธาตุอาหารไปใช้ได้ แต่มีดินบางชนิดตรึงธาตุอาหารไว้ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช

ปัจจัยที่ทำให้ดินเสื่อมคุณสมบัติทางเคมี และกายภาพ
·         ดินเสื่อมคุณสมบัติลง เมื่อสิ่งปกคลุมให้ความชุ่มชื้นถูกรื้อถอนออกไป ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดิน สูญเสียธาตุอาหาร หรือเกิดการพังทะลายของหน้าดิน
·         ทำการเขตกรรมไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การปลูกพืชเป็นแถว ไม่ขวางตามลาดเท หรือการเตรียมดินด้วยรถไถ ในทิศทางเดิม ระดับเดิม ซึ่งนานไปจะเกิดเป็นชันดินดาน

การแก้ไขปรับปรุงความเสื่อมทางเคมี และกายภาพของดิน
·         โดยการเติมธาตุอาหารที่พืช จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยเคมีมีปริมาณธาตุอาหารที่แน่นอนและจำนวนมาก แต่มีราคาแพง ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยที่หาง่าย แต่มีประมาณธาตุอาหารน้อย จึงต้องใ้ช้ในปริมาณที่มากกว่า และมีข้อดี คือช่วยทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น ปุ๋ยพืชสดส่วนมากมักใช้พืชตระกูลถั่วที่ปลูกแล้วไถกลบลงดิน
·         ปรับความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินให้เหมาะสม ในกรณ๊ดินเป็นกรดจัดควรใส่ปูนขาว เพื่อปรับระดับ (pH) ให้เหมาะสมพืชธาตุอาหารบางชนิดถ้า pH ไม่เหมาะสมพืชก็ไม่สามารถดูดนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ปูนขาว ยังช่วยปรับคุณสมบัติทางกายภาพ ของดินให้ดีขึ้น เช่น ทำให้ดินเหนียวไม่่จับตัวเป็นก้อนแข็ง ทำให้ร่วนซุย มีการถ่ายเทอากาศดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหาร เช่น Ca, Mn ให้แก่พืชโดยตรงอีกด้วย.


****อ้างอิงจาก ข้อมูลสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กลับหน้าแรก