ขอต้อนรับสู่ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ ชมรมเพาะพันธุ์กล้ายางคุณภาพ ตอนนี้ยาง TP48 พันธุ์มาเลย์ พร้อมออกสู่เกษตรกรแล้ว สายพันธุ์อื่น ๆ ปรับราคาใหม่ ในราคาเกษตรกร และตอนนี้ทางชมรมต้องการตัวแทนตัวหน่ายกล้ายาง สนใจรายละเอียด กรุณาติดต่อโดยตรง

การเก็บรักษาต้นตอตายาง

          ตามปกติต้นตอตายางที่ขุดถอนขึ้นมาแล้ว ควรนำไปปลูกให้เสร็จโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ความงอกสูญเสียไป Keaopbamrang (1977) ได้รายงานผลการนำต้นตอตายางจากแปลงขยายพันธุ์ยางไปปลูกยังแปลงปลูกมีระยะสูงสุดเพียง 5 วัน ถ้าช้าไปกว่านี้ ต้นตอตายางจะตายถึง 20-30% แต่ในบางครั้งมีความจำเป็นไม่สามารถปลูกได้ทันที เนื่องจากต้องขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งปลูกเป็นระยะไกล ๆ หรือบางครั้งต้องชะลอการปลูกเอาไว้ ดังนั้นการปฏิบัติต่อต้นตาตายางโดยใช้วิธีการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุของต้นตาตายางให้มีความงอกอยู่ได้นานมากที่สุด สถาบันวิจัยยางมาเลเซีย (1982) ได้แนะนำวิธีการบรรจุต้นตอตายางในห่อพลาสติกสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน 20-25 วัน จะช่วยลดปัญหาต้นตอตายางแห้งตายและเสียหายในระหว่างการขนส่งได้เป็นอย่างดี Premakumari et. Al. (1974) ได้รายงานว่าระดับความชื้นในการเก็บรักษาเป็นปัจจัยในการคงความงอกของต้นตอตายาง

       

          จรินทร์ และคณะ (2521) ได้ทดลองนำต้นตอตาเขียวพันธุ์ GT1 RRIM600 PB5/51 บรรจุลังซึ่งรองด้วยฟางข้าว ใช้เวลาในการขุดถอนและขนย้ายเป็นเวลา 3 วัน แล้วทยอยปลูกทุกวันช่วง 14 วัน ต้นตอตาเขียวที่รอการปลูกจะเก็บไว้ในที่ร่ม โดยปิดฝาลังเอาไว้และรดน้ำวันละครั้ง ผลปรากฏว่าต้นตอตาเขียวที่ปลูกวันที่ 8 ของการเก็บ จะให้ผลสำเร็จในการปลูกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการเก็บรักษาต้นตอตายางที่ปฏิบัติได้ง่ายและสะดวกที่สุด โดยการนำต้นตอตายางวางเรืองบนฟางข้าวแล้วใช้ฟางคลุมปิดอีกครั้ง รดน้ำให้ชุ่มเพื่อรักษาความชื้น วิธีการนี้เรียกว่าบ่มต้นตอตายาง ซึ่งการบ่มต้นตอตายางไม่ควรบ่นนานเกิน 10 วัน เพราะต้นตอตายางที่เก็บรักษาไว้อาจเน่าเสียได้ สำหรับในบางท้องที่ที่ไม่สามารถหาฟางข้าวมาคลุมต้นตอตายางได้ อาจใช้กระสอบป่านแทนก็ได้

การขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูก

          เมื่อต้นยางชำถุงเจริญเติบโตได้ 1-2 ฉัตร มีใบแก่เต็มที่ โดยสังเกตจากยอดของฉัตรเริ่มผลิยอดอ่อนเป็นปุ๋มขึ้นมา จนขนย้ายไปปลูกในแปลงได้ กรณีขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูกขณะที่ฉัตรยังมีใบอ่อน หรือเป็นเพสลาด จะทำให้ต้นเหี่ยวเฉาโดยเร็วและอาจตายในที่สุด และในขณะขนย้ายต้องระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก เพราะหากดินในถุงแตกจะมีผลทำให้ต้นยางชำถุงมีอัตราการตายสูง

การดูแลรักษาต้นยางชำถุง

  1. การรดน้ำ  ควรให้น้ำในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของต้นยางชำถุง อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป ถ้ามากเกินไปอาจทำให้น้ำท่วมขังในแปลงได้ และบางครั้งอาจทำให้โรคบางชนิดระบาดในแปลงได้ง่าย แต่ถ้าน้อยเกินไปจะทำให้ดินในถุงแห้ง ซึ่งจะส่งผลต่อตาที่กำลังผลิออกมา ชะงักการเจริญเติบโต และตายได้ ดังนั้นจึงควรให้น้ำทุกวันในเช่วงเช้าและเย็น
  2. การใส่ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยเม็ดสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยผสมสูตร 20-8-20 ในแหล่งปลูกยางเดิม และสูตร 20-10-12 ในแหล่งปลูกยางใหม่ อัตรา 5 กรัม ต่อถุง ใส่หลังจากตาผลิออกมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ และใส่ครั้งต่อไปทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ การใส่ปุ๋ยควรระมัดระวังเพราะปุ๋ยถูกใบอ่อนของต้นยางจะทำให้ใบเกิดรอยไหม้
  3. การกำจัดวัชพืช  วัชพืชที่งอกในถุงที่ปักชำต้นยางอยู่นั้น จะเป็นตัวการแย่งน้ำและอาหาร ทำให้ต้นยางชำถุงเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงควรควบคุมและกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยการใช้แรงงานถอนขณะที่ดินมีความชื้นสูง เพราะถอนได้ง่าย และกระทบกระเทือนต่อระบบรากน้อย
  4. การตัดกิ่งแขนง  หลังจากปักชำต้นตอตายางในถุงแล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะเริ่มมีกิ่งแขนงที่แตกออกมาจากตาของต้นเดิม กิ่งแขนงเหล่านี้จำเป็นต้องตัดทิ้งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพราะหากปล่อยเอาไว้จะมีผลทำให้ตาที่ติดเอาไว้ไม่แตก หรือมีผลต่อตาที่แตกแล้ว ทำให้ต้นเคระแกรนไม่เจริญเติบโต
  5. การคัดต้นยางชำถุงทิ้ง  ในการผลิตต้นยางชำถุง มักจะพบต้นที่มีลักษณะผิดปกติอยู่เสมอ ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากนำต้นตอตายางที่มีคุณภาพต่ำมาปักชำ การจัดการการผลิตไม่ได้มาตรฐาน และต้นยางชำถุงได้รับความเสียหายรุนแรงจากโรค ถ้าต้นยางชำถุงมีลักษณะผิดปกติให้คัดทิ้งทัน ไม่แนะนำไปปลูก มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายในภายหลัง
  6. การป้องกันกำจัดโรค  โรคที่ระบาดและทำความเสียหายให้กับต้นยางชำถุงเกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น โรคราแป้ง โรคใบจุดตานก โรคใบจุดนูน และโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา ซึ่งโรคแต่ละชนิดจะแพร่ระบาดในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป

การปักชำต้นตอตายาง

การปักชำต้นตอตายาง มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
  1. รดน้ำให้ดินในถุงชุ่มชื้นจนอ่อนตัวมากที่สุด แต่ถ้าต้นตอตายางที่จะปักชำมีจำนวนน้อยก็อาจจะนำถุงที่บรรจุดินแล้วมาแช่น้ำก่อนปักชำต้นตอตายางก็ได้
  2. ใช้ไม้ปลายแปลมหรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีปลายแหลม และมีขนาดเล็กกว่าต้นตอตายาง แทงดินในถุงให้เป็นหลุมลึกน้อยกว่าความยาวของรากต้นตอตายางที่ตัดไว้
  3. นำต้นตอตายางที่เตรียมไว้แล้วมาปักชำในถุง โดยให้รากแก้วจมลงไปจนถึงรอยต่อคอดินระหว่างรากกับลำต้น
  4. อัดดินบริเวณรอบโคนต้นของต้นตอตายางที่ปักชำให้แน่น ให้ตำแหน่งของแผ่นตาอยู่เหนือผิวดินประมาณ 2 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง แล้วนำต้นตอตายางที่ปักชำไปว่างเรืองในโรงเรือนที่มีการพรางแสงต่อไป

การใช้สารออร์โมนกับต้นตอตายาง

          การใช้สารฮอร์โมนหรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (Plant growth regulators) ในกลุ่มออกซิน (Auxins) กับต้นตอตายาง โดยทาบริเวณรากแก้ว จะช่วยกระตุ้นให้เกิดจุดกำเนิดรากและการพัฒนาของรากแขนงได้เร็วและมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวน ปริมาณ และความยาวของรากแขนงมากขึ้นกว่าการไม่ใช้สาร (Pakianathan et. Al.,1978) จากการศึกษาการใช้สารออกซินเร่งรากแขนงของ Hafsah และ Pakianathan (1979) ได้พบว่าการใช้ Indolebutyric acid (IBA) 2,000 ppm. ในรูปดินขาวผม Captan-50 (5%) และโปแตสเซียมไนเตรท (1% KN03) มีประสิทธิภาพในการเร่งรากแขนงข้างมากที่สุด วิสุทธิ์ (2526) ได้รายงานว่าการใช้ IBA 3,000 ppm. ในรูปผงดินขาวผสมน้ำ 2.5 เท่า จุ่มรากต้นตอตายางก่อนปลูก ทำให้ต้นตอตายางเจริญเติบโตสม่ำเสมอดีกว่า ทำให้ต้นยางทนต่อสภาวะอากาศแล้วได้ดีกว่าปกติ สามารถลดอัตราการตายของต้นยางลงได้มากกว่า 50% ส่วนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นต้นละ 30 สตางค์ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร IBA ที่เตรียมไว้ในรูปผงผสมดินขาวสามารถเก็บไว้ในที่มืด ในสภาพอุณหภูมิปกติได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่เสื่อมคุณภาพ
          Hafsah (1982) รายงานผลการทดสอบสารเร่งการแตกตาของต้นตาตายางพันธุ์ RRIM600 ผลการแตกตาหลังจากใช้สารแล้ว 2 เดือน ปรากฏว่าเบนซิลอดินิน (BA) 2,000 ppm. สามารถกระตุ้นการแตกตาได้ดีกว่าการใช้สาร GA, kinetin, ethylene และต้นที่ไม่ใช้สาร
          สาร IBA มีคุณสมบัติเป็น auxin ซึ่งมีผลต่อการเกิดและพัฒนาของรากแขนง ส่วนสาร BA ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่ม Cytokinin มีคุณสมบัติแก้การฟักตัวของตาข้าง กระตุ้นให้มีการแบ่ง cell อิทธิพลของสารทั้งสองในการเลี้ยงเนื้อยเยี่อของพืชชนิดต่าง ๆ หลายชนิดพบว่าสารทั้งสองกลุ่มนี้มักกะมีปฏิกริยาสัมพันธุ์กัน คือถ้าในอาหารที่เลี้ยงมี auxins สูง จะทำให้เนื้อเยื่อเกิดรากมาก แต่ถ้าในอาหารมี Cytokinins สูง เนื้อเยื่อจะมีการเจริญเติบโตทางด้านตามาก แต่จะเกิดรากน้อย (Bidwell. 1979) และจากการศึกษาอิทธิพลของสารทั้งสองชนิดกับต้นตอตายางของชัยโรจน์ (2528) พบว่าสาร Ba ได้แสดงผลต่อการเร่งการแตกตาตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์  ส่วนสาร IBA เริ่มแสดงอิทธิพลเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ การใช้สาร IBA ความเข้มข้น 3,000 ppm. ให้ผลสูงสุดในการเร่งการแตกตาและการเจริญเติบโตของต้นตอตายาง แต่ไม่แตกต่างกับการใช้ IBA 2,000 ppm. การใช้ IBA ร่วมกับ BA จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตและการแตกตาได้ดีขึ้น สาร BA ควรใช้ความเข้มข้น 2,000 ppm. ในรูปของแป้งเปือกได้ผลดีกว่าการใช้ในรูปสารละลาย
1. การเตรียมและการใช้ฮอร์โมนเร่งราก  กรณีต้องการ IBA ความเข้มข้น 3,000 ppm. สามารถเตรียมได้ดังนี้
  • ชั่งสาร IBA บริสุทธิ์จำนวน 3 กรัม ด้วยเครื่องชั่งชนิดละเอียด ใส่ในถ้วยแก้วขนาด 50 มล. รินแอลกอฮอล์ 95% จำนวน 20 มล. ลงในถ้วยแก้ว ใช้แท่งแก้วขนาดเล็กคนจนละลายหมดแล้วเทลงผสมในแอลกอฮอร์ 50% จำนวน 480 มล. รวมเป็น 500 มล.
  • ชั่งดินขาว 1 กิโลกรัม KNO3 10 กรัม และ Captan-50 50 กรัม แล้วนำ IBA ที่ละลายในแอลกอฮอร์ 500 มล. ผสมน้ำ 2 ลิตร คนให้อยู่ในสภาพแขวนลอย
  • นำต้นตอตายางที่ตัดแต่งรากแขนง และรากฝอยออกจนหมดแล้ว มาจุ่มในสารละลาย IBA ที่เตรียมไว้ให้ทั่วรากแก้ว แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มให้สารละลายแห้ง จึงนำไปปักชำในถุง
2. การเตรียมและการใช้ฮอร์โมนเร่งการแตกตา กรณีต้องการ BA ความเข้มข้น 2,000 ppm. สามารถเตรียมได้ดังนี้
  • ชั่งสาร BA บริสุทธิ์จำนวน 2 กรัม ด้วยเครื่องชั่งชนิดละเอียด ใส่ในถ้วยแก้วขนาด 50 มล. รินแอลกอฮอล์ 95% จำนวน 20 มล. ลงในถ้วยแก้ว ใช้แท่งแก้วขนาดเล็กคนจนละลายหมดแล้ว
  • ชั่งลาโนลิน จำนวน 500 กรัม แล้วทำให้เหลวโดยอาศัยความร้อน จากนั้นจึงน้ำ BA ที่ละลายในแอลกอฮอล์มาเทงในลาโนลินที่ละลายแล้ว คนให้เข้ากันแล้วตั้งไว้ให้เย็น ลาโนลินจะคืนสภาพเป็นครีมเหนียว ๆ
  • ใช้พู่กันจุ่มสาร BA ในรูปครีมเหนียว ไปป้ายบริเวณตาของต้นตอตายางที่ต้องการให้แตกออกมา

การจัดเตรียมแปลง และโรงเรือน

  1. การเตรียมพื้นที่  ปรับพื้นที่ของแปลงเพาะให้เรียบสม่ำเสมอ หรือลาดเอียงเล็กน้อย และควรขุดคูรอบ ๆ แปลงเพาะเพื่อเป็นทางระบายน้ำ
  2. การพรางแสง  ในระยะแรกของการปักชำ ขณะที่ต้นยางชำถุงยังไม่มีรากใหม่ และตายังไม่แตกออกมา จะต้องทำการพรางแสงเพื่อลดความเข้มของแสงลง ให้ปริมาณแสงผ่านลงไปในโรงเรือนเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยใช้ตาข่ายพรางแสงชนิดความเข้มของแสง 60% ติดตั้งบนโรงเรือนให้สูงกว่าระดับดินประมาณ 2-2.50 เมตร เมื่อต้นยางได้ขนาดที่จะนำไปลูกควรลดการพรางแสงลง และให้ต้นยางชำถุงอยู่ในสภาพโล่งแจ้งสักระยะหนึ่ง ไม่ควรนำออกจากโรงเรือนปลูกทันที เพราะต้นยางชำถุงยังปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ และตายได้
  3. การวางแถวต้นยางชำถุง  การวางแถวต้นยางชำถุงอาจวางได้ 2 ลักษณะ คือ การวางบนพื้นดินและการวางไว้ในร่องดินที่ขุด ในแหล่งที่มีฝนตกชุกควรวางไว้บนพื้นดิน เพราะถ้ามีน้ำท่วมขังในร่องดินอาจทำให้ต้นยางชำถุงเสียหายได้ ส่วนในแหล่งอื่น ๆ อาจจะเลือกวางต้นยางชำถุงบนพื้นดิน หรือวางในร่องดินก็ได้แล้วแต่จะเหมาะสม กรณีวางไว้บนพื้นดินควรใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งทำเป็นกรอบกั้นเอาไว้ ระดับของกรอบไม้ควรให้อยู่ประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวถุง แต่กรณีวางในร่องดินควรขุดดินให้เป็นร่องลึกลงไป 1 ใน 3 ของความยาวถุง ความกว้างของแถวควรใช้ต้นยางชำถุงจำนวน 2-3 ถุง ไม่ควรวางมากกว่านี้เพราะจะทำให้ต้นยางแน่นมาก และไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา เช่น การรดน้ำ การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย และการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูยาง ความยาวของแถวไม่จำกัดขึ้นอยู่กับความสะดวกในการปฏิบัติงานและรูปร่างของพื้นที่แปลง ระยะระหว่างแถว หรือบล็อกกว้างประมาณ 75 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นทางเดิน สำหรับทิศทางของการวางแถวควรวางแถวแต่ละแถวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อประโยชน์ในการพรางแสง
IMG_0521