ขอต้อนรับสู่ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ ชมรมเพาะพันธุ์กล้ายางคุณภาพ ตอนนี้ยาง TP48 พันธุ์มาเลย์ พร้อมออกสู่เกษตรกรแล้ว สายพันธุ์อื่น ๆ ปรับราคาใหม่ ในราคาเกษตรกร และตอนนี้ทางชมรมต้องการตัวแทนตัวหน่ายกล้ายาง สนใจรายละเอียด กรุณาติดต่อโดยตรง

จับตาทิศทางราคายางพาราในปี 2012 … รุ่ง หรือ ร่วง?

จับตาทิศทางราคายางพาราในปี 2012 … รุ่ง หรือ ร่วง?
วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 15:54 น. บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์
ข่าวรายวัน - ข่าวในประเทศ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ "จับตาทิศทางราคายางพาราในปี 2012 … รุ่ง หรือ ร่วง?"เขียนโดย  วิชชุดา ชุ่มมี ระบุว่า ราคายางพาราในปี 2012 มีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองคือ วิกฤติหนี้สินของกลุ่มยูโรโซนและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางพาราอันดับ 1 รวมไปถึงแนวโน้มผลผลิตยางพาราทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องติดตามคือ มาตรการแทรกแซงราคายางพาราของภาครัฐซึ่งจะมีผลต่อทิศทางราคายางทั้งในประเทศและตลาดโลกในระยะต่อไป
ราคายางพาราในปี 2011 ปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรงหลังจากทำสถิติสูงสุดในช่วงต้นปี  โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งรุนแรงในญี่ปุ่น ซึ่งมีผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อป้อนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ปรับลดลงมาก (ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้บริโภคยางธรรมชาติ หรือ natural rubber รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน) เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์หลายรายต้องปิดตัวลงชั่วคราวและชะลอการรับซื้อยาง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่มีผลให้ราคายางพาราในประเทศปรับลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี หลังจากที่ราคายางอยู่ในช่วงขาขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา
 
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่กดดันให้ราคายางในปีที่ผ่านมาตกต่ำลง ได้แก่ (1) ความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกที่ลดลง เนื่องจากประเทศผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลกอย่างจีนและอินเดียชะลอการสั่งซื้อ หลังจากได้มีการเร่งซื้อยางสะสมเข้าสต็อกไปค่อนข้างเยอะแล้วในช่วงก่อนหน้า (2) การเทขายทำกำไรของนักลงทุนในตลาดซื้อ-ขายล่วงหน้า และ (3) ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกภายหลังเหตุการณ์พิบัติภัยในญี่ปุ่น
สำหรับปี 2012 คาดว่าราคายางพารายังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลกระทบของวิกฤติหนี้สินของกลุ่มยูโรโซนที่อาจลุกลามเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม   ความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านี้ทำให้ตลาดเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาพรวมของภาคการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลง และกดดันให้ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอลงตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจยางพาราชะลอการสั่งซื้อยางเก็บเข้าสต็อก ขณะที่นักลงทุนเองก็มีแนวโน้มที่จะเทขายทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ เพื่อทยอยลดความเสี่ยง ดังนั้น เราจึงอาจเห็นราคายางเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้นในระยะต่อไป
รวมทั้งต้องจับตาการสั่งซื้อยางพาราของจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก โดยจีนมีสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติมากถึงราว 1 ใน 3 ของการบริโภคยางทั่วโลกรวมกัน ทั้งนี้ พบว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคายางพาราในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากโดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในจีน จนทำให้ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นไปแล้ว ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดของสมาคมผู้ผลิต
รถยนต์ของจีน หรือ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนได้เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 18.5 ล้านคัน หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สูงถึงราว 22% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนได้เริ่มชะงักงันลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากการ
ยกเลิกมาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้นให้คนซื้อรถ หรือแม้แต่การออกนโยบายจำกัดการซื้อรถยนต์ใหม่ในบางเมืองเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กดดันให้ความต้องการใช้ยางพาราและราคายางในตลาดโลกปรับลดลงในระยะต่อไป
นอกจากปัจจัยด้านอุปสงค์แล้ว ผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้ราคายางพาราปรับลดลง  จากรายงานขององค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติในปี 2012 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับความต้องการใช้ยางที่ราว 11.5 ล้านตัน  เนื่องจากประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือจีน ได้เริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกเพาะปลูกยางพาราทั้งในประเทศและนอกประเทศมากขึ้น  โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางพาราในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้อมูลจาก IRSG บ่งชี้ว่า การลงทุนใหม่ๆ ในด้านการเพาะปลูกยางทั่วโลกจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีกราว 1 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ประเทศผู้ผลิตที่น่าจับตามองในอนาคตคือ เวียดนาม ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันผลผลิตยางพาราของเวียดนามจะยังคงอยู่ในระดับที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลกอย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (ผลผลิตรวมของทั้ง 3 ประเทศ คิดเป็นประมาณ 70 % ของผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก) แต่พบว่าผลผลิตยางพาราของเวียดนามกลับมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุดในบรรดาประเทศผู้ผลิตหลักทั้งหมดในตลาดโลก ทั้งในแง่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่และการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่เพาะปลูกยาง จนทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่อันดับ 5 ของโลกในปัจจุบัน
สำหรับประเด็นในประเทศที่ต้องจับตามองคือ แนวทางการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำของภาครัฐ  โดยล่าสุดรัฐบาลได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้องค์การสวนยาง (อสย.) และองค์กรเกษตรกรเพื่อรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรจำนวน 200,000 ตันเก็บเข้าสต็อก ซึ่งเท่ากับเป็นการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และผลักดันให้ราคายางกลับไปอยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ ไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 110 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมาตรการแทรกแซงตลาดดังกล่าวนี้จะมีผลต่อทิศทางราคายางทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะต่อไปเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก รวมทั้งราคาส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น 3 หรือ RSS3 ยังใช้เป็นราคาอ้างอิง (benchmark price) ในตลาดโลกอีกด้วย
    สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญมากกว่ามาตรการพยุงราคาคือ การกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างครบวงจร โดยควรสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราในขั้นปลายน้ำให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออก และลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางในตลาดโลก โดยควรส่งเสริมการแปรรูปยางพาราและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อขยายผลการใช้ยางพาราในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น เช่น การผลิตยางล้อรถยนต์ ยางล้อเครื่องบิน ถุงมือยางทางการแพทย์ ท่อยาง เป็นต้น แทนการส่งออกยางในรูปวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้น เช่น ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง หรือน้ำยางข้น (ปัจจุบันผลผลิตส่วนใหญ่คือเกือบราว 90% ถูกส่งออกในรูปของวัตถุดิบและยางธรรมชาติแปรรูปขั้นต้น) เพื่อต่อยอดห่วงโซ่การผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้จากการส่งออกยางพาราให้มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคายางในประเทศและลดผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาในตลาดโลกแล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยอย่างต่อเนื่องและครบวงจรอีกด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thannews.th.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น