ขอต้อนรับสู่ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ ชมรมเพาะพันธุ์กล้ายางคุณภาพ ตอนนี้ยาง TP48 พันธุ์มาเลย์ พร้อมออกสู่เกษตรกรแล้ว สายพันธุ์อื่น ๆ ปรับราคาใหม่ ในราคาเกษตรกร และตอนนี้ทางชมรมต้องการตัวแทนตัวหน่ายกล้ายาง สนใจรายละเอียด กรุณาติดต่อโดยตรง

ยางพาราไทย ยังไม่ถึงทางตัน

ยางไทยวันนี้...ไม่ถึงทางตันความต้องการตลาดโลกยังสูง   [วันที่ 28 พ.ย. 2554 ]


         “ราคายาง ณ ปัจจุบัน ( 24 พ.ย. 2554 ) อยู่ที่ ประมาณ 90 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำ เกษตรกรยังอยู่ได้ โดยราคายางขึ้นลงตามราคาน้ำมัน และตลาดหุ้น ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคกลาง ที่ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมยานยนต์ชะงักไป จึงส่งผลกระทบต่อตลาดยางพาราไปด้วยซึ่งก่อนหน้านี้ มีผลผลิตยางออกสู่ตลาดจำนวนมาก แต่มีการนำไปใช้น้อย จึงทำให้ราคาตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งที่มีทุน มักจะเก็บยางไว้ ไม่นำออกมาขาย ในช่วงที่ราคาลดลง จึงยังมียางอยู่ในมือเกษตรกรเป็นจำนวนมาก “ นี่เป็นคำยืนยันจาก นายพนัส แพชนะ ผู้อำนวยการตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี

          ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคกลางส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมหลายหลากชนิดที่ส่วนใหญ่มีวัตถุดิบมาจากยาง ยิ่งไปกว่านั้นทำราคายางพาราลดฮวบลงไปด้วยนั้น เนื่องจากยางในสต็อกมีมาก แต่ไม่มีโรงงานผลิต จึงฉุดราคายางแผ่นดิบต่ำไปด้วยนั้น ทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่มีลมมรสุมทำให้มีฝนตกในภาคใต้ กรีดยางไม่ได้มากนักราคาจะสูงทุกปีเว้นแต่ปีนี้ที่กลับกัน
          นายพนัส ให้ข้อมูลว่า ราคายางปรับลดไม่นาน แนวโน้มราคายางพารา จะทรงตัวในระดับ 80-90 บาทต่อกก. ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมีปัญหาในตอนนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา จะส่งผลกระทบต่อราคายางในทันที ประกอบกับในช่วงปลายเดือนธันวาคม-มกราคม จะเป็นช่วงที่ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีวันหยุดยาว ในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ทำให้ความต้องการใช้ยางของสองตลาดนี้ชะลอตัวลง 

         ขณะเดียวกัน ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในผลิตยางพารา เริ่มมีฝนตกหนัก ทำให้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดจำนวนน้อย เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ และผลผลิตจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงฤดูที่ยางพาราผลัดใบ 2 ปัจจัยนี้ จะทำให้ผลผลิตในตลาด และในมือเกษตรกรลดลง 

          สำหรับตลาดหลักในการส่งออกยางพารา ยังคงเป็นประเทศจีน ซึ่งมีความต้องการผลผลิตยางสูงกว่า ตลาดยุโรป และอเมริกา โดยไทยส่งออกยางไปจีน ปีละประมาณ 3-4 แสนตัน ประกอบกับระยะทางในการขนส่งไม่ไกล และมีระบบโลจิสติกส์ ที่ดีและสะดวก ทำให้ตลาดจีน เป็นตลาดที่ยังสดใส สำหรับยางพาราของไทย ส่วนตลาดญี่ปุ่น มีการส่งออกลดลง หลังจากเกิดเหตุสึนามิ 

          “วันนี้ผลผลิตยางพารา ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลก ดังนั้นในระยะ 10 ปี ข้างหน้า ผลผลิตยางพารา จะยังไม่เต็มตลาด เนื่องจาก พื้นที่ปลูกยาง มีจำกัด ไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกไปได้มากกว่านี้แล้ว ประกอบกับ ยางสังเคราะห์ ที่ได้จากปิโตรเคมี ลดลงตามปริมาณน้ำมันของโลกที่ลดลงต่อเนื่อง และจะหมดไปใน 40-50 ปีข้างหน้า จึงส่งผลให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติจะมีอย่างต่อเนื่อง "
          สำหรับประเทศคู่แข่งในการผลิตยางพาราของไทย คือ อินโดนีเซีย ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลก ใกล้เคียงกัน คือไทย มีส่วนแบ่งที่ 31 เปอร์เซ็นต์ อินโดนีเซีย 29 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกราว 30 ล้านไร่ และไทยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 17 ล้านไร่ ส่วนที่ทำให้ไทยยังเป็นผู้นำด้านการผลิตยาง คือเทคโนโลยีการผลิตที่สูงกว่า แม้แต่ในประเทศจีน ซึ่งมีพื้นที่มาก จนคนไทยวิตกว่ายางจากจีนจะตีตลาดโลก และทำให้ราคายางของไทยตกต่ำ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น 

          เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่จีน ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกยาง แต่พื้นที่ที่น่าสนใจ และยังขยายพื้นที่ปลูกได้ คือประเทศลาว และพม่า ซึ่งแม้จะมีการปลูกยางเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีขอจำกัดในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต 

          ณ วันนี้ ไทยเป็นหนึ่งของโลกในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตยางพารา แต่ในภาคอุตสาหกรรม ไทยยังเป็นรองประเทศมาเลเซีย ซึ่งในอนาคตไทยต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วนและต้องเป็น 1 ในโลกให้ได้ซึ่งทำได้ไม่ยาก หากมีการสนับสนุนที่จริงจัง

          ในส่วนของภาคเกษตรกร อย่าง นายสันติ ชูสุวรรณ เกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า ตอนนี้ราคายางพาราถือว่าวิกฤติอย่างมาก เพราะสินค้าทุกประเภทขึ้นราคา แต่รายได้ลดลง จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งหาวิธีการที่จะฉุดราคายางให้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าหลังน้ำลดโรงงานผลิตทุกแห่งต้องเร่งใช้วัตถุดิบในการผลิตรถยนต์ ได้แต่หวังว่าราคายางคงจะดีกว่านี้ โดยเฉพาะหากกิโลกรัมละ 95 -100 บาท

          " เกษตรกรน่าจะพออยู่ได้ แต่หากราคายางพาราลด ต้นทุนผลิตก็ต้องลดลงด้วย โดยเฉพาะราคาปุ๋ยต้องลดลงและราคาสินค้าต้องปรับให้เหมาะสม อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา หากเป็นไปในลักษณะนี้เกษตรกรก็พอใจแล้ว"

          ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลต้องการรักษาระดับราคาให้เกษตรกรขายยางแผ่นดิบชั้น 3 ในราคา ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 95 บาท เพื่อทำให้ราคายางส่งออก FOB ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่า 105 บาท หรือ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม เป็นแผนงานระยะสั้นช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายปีนี้และไตรมาสแรกปี 2555 ส่วนระยะยาวจะรักษาระดับราคายางไว้ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม หรือ 120 บาทโดยที่ผลการประชุมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดมาตรการ 9 ประการ 
          ประกอบด้วย 1)รัฐบาลไทยจะเชิญผู้แทน ITRC เพื่อพิจารณาปัญหาราคายาง เช่น การจำกัดโควตาการส่งออก 2)ให้รักษาระดับราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ไว้ที่ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 105 บาทต่อกก. 3)ขอให้ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อกับสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางและเก็บสต็อกไว้ 4) นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รมช.เกษตรฯ และผู้บริหารองค์การสวนยาง สกย. สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร และเอกชน จะไปเจรจาทำสัญญาซื้อขายยางกับจีนช่วงสัปดาห์หน้า 5) เสนอรัฐบาลจัดทำ Packing Credit กับเอกชนผู้ส่งออกยาง 6) ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวสวนยางลดหรือชะลอเวลาการกรีดยางจากกรีด 2 วันเว้น 1 วัน เป็นกรีดวันเว้นวัน เพื่อลดปริมาณในท้องตลาด ทำให้ราคาสูงขึ้น 7) ขอร้องให้เกษตรกรหยุดกรีดยางต้นเล็กที่ยังไม่ได้ขนาดกรีด 8) ปี 2555 เพิ่มเป้าหมายการโค่นยางเพื่อปลูกแทนจากปีละ 255,000 ไร่ เป็น 4 แสนไร่ 9) เสนอรัฐบาลทำโครงการ 8,000 ล้านบาท เพื่อให้เครดิตกับสถาบันเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา

          โดยที่มูลค่าการส่งออกยางไทยในปีนี้จากยางทุกรูปแบบทั้งน้ำยางข้น ยางคอมปาวด์ ยางเครพ, ยางแท่ง, ยางธรรมชาติอื่นๆ ยางบาลาตา ยางแผ่นผึ่งแห้ง และยางแผ่นรมควัน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม (ข้อมูลกรมศุลกากร) ประมาณ 1,650,207 ตัน มูลค่าประมาณ 226,640 ล้านบาท

          "ปีนี้หากมองถึงการปลูกยางใหม่ที่ต้องเน้นยางคุณภาพอาจจะต้อง ประสบกับภาวะต้นกล้ายางไม่เพียงพอ สาเหตุหนึ่งเป็นผลพวงมาจาก ช่วงที่ยางราคาสูง เกษตรกร ที่ผลิตต้นตายาง ได้โค่นต้นพันธุ์ทิ้ง แล้วปลูกยางพาราแทนที่ ทำให้ต้นกิ่งพันธุ์หายในจากระบบการผลิตจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นของกระทรวงเกษตร ฯทำให้ ใน 1-3 ปีข้างหน้า ต้นกล้ายางจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต่อไปอีก โดยการปลูกต้นพันธุ์ยาง เพื่อเอาตายาง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ส่วนราคาตายาง ในปัจจุบัน อยู่ที่ ตาละ 1 บาท หรือ ฟุตละ 6 บาท" 

          "วันนี้ผลผลิตยางพารายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกดังนั้น 10 ปีข้างหน้าผลผลิตยางพาราจะยังไม่เต็มตลาด"


          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, 28 พ.ย. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น